Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ปัจจัยใกล้ตัว ทำระบบทางเดินอาหารป่วย

5 พ.ย. 2562



   “ระบบทางเดินอาหาร” หรือเรียกย่อว่า ระบบจีไอ (GI system, Gastrointestinal system, หรือ Gastroenterology) ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ มากมายได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน บางครั้งเรียกหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนบน (Duodenum) รวมกันว่า “ทางเดินอาหารตอนบน หรือระบบทางเดินอาหารตอนต้น (Upper GI tract)” และเรียกลำไส้เล็กตอนล่าง (Ileum) ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนักว่า “ทางเดินอาหารตอนล่าง (Lower GI tract)”
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารมีอะไรบ้าง ?
  • ขาดการสาธารณสุขที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำดื่ม น้ำใช้
  • การกินอาหารไม่สะอาด ปรุงดิบ หรือสุกๆดิบๆ หรือ อาหารค้างคืน อาหารแช่แข็งที่ไม่ปรุงให้สุก
  • ปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร คือ การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่มากเกินควร รับประทานอาหารรสจัด รับประทานอาหารที่ไม่มีใยอาหาร
  • การดื่มสุรา สูบบุหรี่
  • ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้รับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินอาหารได้            
อาการสำคัญและที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางเดินอาหาร
  • อาการปวดท้อง
  • อาการอื่นๆ ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ,คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ตัวเหลือง ตาเหลือง ไม่ผายลมเมื่อมีลำไส้อุดตัน ตับโตคลำได้ อาจร่วมกับอาการเจ็บใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่งที่อยู่ของตับ) เมื่อมีโรคของตับ
  • นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆร่วมได้อีกซึ่งขึ้นกับสาเหตุ เช่น มีไข้เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำเมื่อท้องเสียมาก คลำได้ก้อนในท้องเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง หรือเนื้องอก หรือมีน้ำในท้องเมื่อมีโรคมะเร็งลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง หรือมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
วิธีการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร แนวทางรักษาเป็นอย่างไร และต้องป้องกันได้อย่างไร ?
แนวทางการรักษาโรคทางเดินอาหาร คือ การรักษาสาเหตุและการรักษาประคับประคองตามอาการ
  • การรักษาตามสาเหตุ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อโรคเกิดจากติดเชื้อรา การรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดและยาปฏิชีวนะ หรือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด อาจร่วมกับรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด หรือยารักษาตรงเป้า
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกินไม่ได้หรือในภาวะขาดน้ำจากอาเจียนหรือท้องเสียมาก หรือการให้เลือดเมื่อมีอาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด จนเกิดภาวะซีด
  • การตรวจคัดกรองด้วยวิธีการส่องกล้อง ปลอดภัย ไม่เจ็บ ไม่ต้องนอนพัก ไม่มีแผลผ่าตัด
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) สามารถตรวจหาความผิดปกติของ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น งดน้ำ งดอาหาร 4 ชั่วโมง สามารถทำได้
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) สามารถตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมทางเดินอาหารประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ต้องเตรียมลำไส้ก่อนการส่องกล้อง สามารถมาตอนเช้า ทำตอนบ่าย

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.อมรนิวิษฐ์ กนกวรรณวิมล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการส่องกล้อง เพื่อตรวจรักษาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ,โรคลำไส้และกระเพาะอักเสบเรื้อรัง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.